วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551

งานวิจัย

บทที่ 1
บทนำ

ภูมิหลัง
ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่งผลกระทบต่อครอบครัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฐานะความเป็นอยู่คนส่วนใหญ่มุ่งหาแต่ ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง มีความเห็นแก่ตัว ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ขาดความหยั่งคิดไม่รู้จักพอ ขาดคุณธรรม จริยธรรม และความพอเพียงในการดำเนินชีวิต ปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งนับวันการหลงผิดยิ่งทวีความรุ่นแรงขึ้นจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชน (ธีระ ชัยยุทธยรรยง. 2544 : 19 )
พัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเด็กในวัยนี้ต้องมีพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคม และสติปัญญาได้อย่างรวดเร็ว และประสบการณ์ที่เด็กได้รับในช่วงแรกของชีวิต มีอิทธิพลในการพัฒนาในขั้นต่อไป (ดวงเดือน ศาสตรภัทร. 2522 : 10 - 18) ดังนั้น การปลูกฝังนิสัยในการประหยัด อดออม ให้แก่เด็กรู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ความสงบควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก หากสามารถเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เล็กแล้ว ก็ย่อมจะประสบความสำเร็จได้ดีกว่ามาเริ่มเอาตอนโต เนื่องจากเด็กยังเป็นไม้อ่อนที่หัดง่าย (ทิศนา แขมมณี. 2550) การพัฒนาเด็กที่สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางสังคมของเด็กจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า พัฒนาการทางด้านสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตในสังคมเพื่อให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยยึดหลักในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมและถูกต้องตามวัฒนธรรม ประเพณี การพัฒนาทางด้านสังคมสามารถส่งเสริมและพัฒนาได้หลากหลายวิธี
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. 2550 : 15) และได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงโดยให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2542 : 13) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา เห็นได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้ในการจัดการศึกษา ทั้งทางด้านการพัฒนาและการใช้หลักสูตร ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผล และด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาและการใช้หลักสูตร ทำหน้าที่ในด้านการพัฒนาสติปัญญาของบุคคล ให้สามารถที่จะพึ่งตนเองในการดำรงชีวิตประจำวันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ นภัสวรรณ ชื่นฤาดี (2550 : 88-89) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาสาระการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ส่งผลให้เด็กเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดคุณลักษณะตามกำหนด 3 ด้าน คือด้านการบริโภคด้วยปัญญา ด้านการพึ่งพาตนเอง และด้านการประหยัด สาระการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ที่หลากหลายของเด็ก และยังส่งผลให้เด็กได้รับพัฒนาการในทุกด้าน สนุกกับการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน พระขวัญชัย ศรีพรรณ์ (2546 : 68) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลของการสอนนักเรียนแบบอริยสัจกับการสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ที่มีต่อการใช้แนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้การวิจัยที่พบว่า นักเรียนที่ได้รับการสอนแบบอริยสัจกับการสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์มีการใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทิศนา แขมมณี ได้แนะนำว่า หลักสูตรจึงควรประกอบด้วยสาระที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันและปัญหาในการดำรงชีวิต โดยบูรณาการความรู้ ทักษะ และเจตคติจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและมีการพัฒนาในเรื่องนั้น ๆ (ทิศนา แขมมณี. 2550 : 10 – 13) โดยการใช้หลักพึ่งตนเอง 5 ประการ คือ 1) ด้านจิตใจ ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเอง มีจิตใจที่เข็มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ให้ตนเองและชาติโดยรวม มีจิตใจเอื้ออาทร ประนีประนอม ซื่อสัตย์สุจริต เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง 2) ด้านสังคม แต่ละชุมชนต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ชุมชนที่แข็งแรงเป็นอิสระ 3) ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ให้ใช้และจัดการอย่างฉลาดพร้อมทั้งการเพิ่มมูลค่าโดยให้ยึดหลักของการหยั่งยื่นและเกิดประโยชน์สูงสุด 4) ด้านเทคโนโลยี รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและควรพัฒนา เทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่มีทั้งดีและไม่ดี จึงต้องแยกแยะบนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้านและเลือกใช้เฉพาะที่สอดคล้องกับความต้องการของสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ สังคมไทย และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของเราเอง 5) ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ดำรงชีวิตอย่างพอควร พออยู่ สมควรตามอัตตภาพและฐานะของตน (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. 2550 : 14 – 16)
ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาว่าการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมและพัฒนาหลักการพึ่งตนเองนั้นจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านสังคมของเด็กหรือไม่ อันจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมให้แก่เด็กต่อไป

ความมุ่งหมายของการวิจัย
เพื่อศึกษาพัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ความสำคัญของการวิจัย
ผลการศึกษาครั้งนี้ จะเป็นแนวทางสำหรับครูปฐมวัย ในการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมให้เด็กปฐมวัยมีคุณลักษณะที่ดีทางสังคมต่อไป

ขอบเขตของการวิจัย
1. ประชากรที่ใช้ในการวิจัย
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชาย – หญิง ที่กำลังศึกษาในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ของโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งหมดจำนวน 5 ห้อง

2. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชาย – หญิง ที่กำลังศึกษาในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ของโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 8 คน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purpossive random Sampling)

3. ตัวแปรที่ศึกษา
3.1 ตัวแปรอิสระ ได้แก่ กิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3.2 ตัวแปรตาม ได้แก่ พัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กชายและหญิง อายุระหว่าง 5-6 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมถ์ของสมเด็จพระเจ้าฟ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคม ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ ดังนี้
2.1 ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2.2 ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
2.3 การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
2.4 เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
2.5 เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

3. พัฒนาการด้านสังคม หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีดังนี้
3.1 ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง หมายถึง การช่วยเหลือตนเองโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น เช่น การใส่เสื้อ กระโปรง กางเกง การผูกเชือกรองเท้า การับประทานอาหาร และการเก็บของใช้ส่วนตัวได้ด้วยตนเอง เป็นต้น
3.2 การอยู่ร่วมกันในสังคม หมายถึง การปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง การปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน เป็นต้น
3.3 คุณธรรม จริยธรรม หมายถึง การแสดงความรักต่อเพื่อนความเมตตาต่อสัตว์ ต้นไม้ มีความอดทนการรอคอย เป็นต้น
3.4 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม – ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และวัฒนธรรม หมายถึง การปฏิบัติตนที่ดี รู้จักไหว้ทำความเคารพผู้ใหญ่ และกล่าวคำขอบคุณ การปฏิบัติตนตามประเพณีทางศาสนา การทิ้งขยะให้ถูกที่ สนใจและสนุกในการทำกิจกรรม ศิลปะ และการเคลื่อนไหว เป็นต้น
ซึ่งจากการศึกษา พัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถวัดได้จากแบบสังเกตพัฒนาการด้านสังคมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
4. กิจกรรมเสริมประสบการณ์ หมายถึง กิจกรรมส่งเสริมให้เด็กได้มีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา สมกับวัยและเต็มศักยภาพ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกและปฏิบัติด้วยตนเอง
5. การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง การจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายโดยการบูรณาการให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ โดยมีลักษณะการจัดดังนี้
กิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มจากขั้นนำ โดยใช้กิจกรรมร้องเพลง การสนทนา เล่านิทาน การสร้างข้อตกลงร่วมกัน ในการทำกิจกรรม เพื่อเข้าสู้เนื้อหาในการสอน ซึ่งจัดกิจกรรมแบบบูรณาการเข้ากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นร่วมกันสรุปโดยกระบวนการและวิธีการต่าง ๆ